ภาพจำที่ไม่อยากให้จำ

                

                               กองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ซึ่งจดทะเบียนแล้ว ได้จดทะเบียนเข้าเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2538 ในช่วงแรกจนถึงปี 2551  กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กฟผ. มีนโยบายการลงทุนเพียงนโยบายเดียว คือ ลงทุนทั้งในตราสารหนี้และตราสารทุน โดยตราสารทุนถูกจำกัดให้มีสัดส่วนการลงทุนได้ไม่เกินร้อยละ 15 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ แต่บางโอกาสที่สถานการณ์เอื้ออำนวย ก็มีการปรับเพิ่มขึ้นไปเป็นไม่เกินร้อยละ 25 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการกองทุนที่จะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกสัดส่วนการลงทุนตราสารทุน โดยจะประเมินจากสถานการณ์เศรษฐกิจการเงินในช่วงเวลานั้น ๆ (เรียกว่าในระยะแรก สมาชิกไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายการลงทุนของตนเองเลย)

               ต่อมาเริ่มเปิดกว้างมากขึ้น ในปี 2552 ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบการลงทุนมาเป็นแบบ Employee’s Choice โดยมีรูปแบบการลงทุนให้สมาชิกเลือก 4 รูปแบบด้วยกัน คือ

                รูปแบบที่ 1 ลงทุนในตราสารหนี้ร้อยละ 100

                รูปแบบที่ 2 ลงทุนในตราสารหนี้ร้อยละ 70 และลงทุนในตราสารทุนร้อยละ 30

                รูปแบบที่ 3 ลงทุนในตราสารหนี้ร้อยละ 60 และลงทุนในตราสารทุนร้อยละ 40

                 รูปแบบที่ 4 ลงทุนในตราสารหนี้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 85 และลงทุนในตราสารทุนไม่เกินร้อยละ 15

 

หลังจากนั้น มีการพัฒนารูปแบบสัดส่วนการลงทุน เพื่อให้ตอบสนองกับความต้องการของสมาชิกที่มีหลากหลายมากขึ้น ในปี 2553 ได้เปลี่ยนรูปแบบให้เป็นลักษณะที่ให้อิสระกับสมาชิกในการเลือกลงทุน   (Do It Yourself : DIY) แต่ยังอยู่ภายใต้ข้อจำกัดที่ให้เลือกลงทุนในนโยบายตราสารทุนได้ไม่เกินร้อยละ 50 และ    มาเปิดเสรีเรื่องรูปแบบการลงทุนในปี 2558 ให้สมาชิกสามารถเลือกลงทุนในนโยบายตราสารทุนได้ถึงร้อยละ 100  จะเห็นได้ว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กฟผ. มีพัฒนาการมาเป็นลำดับ และถือว่าเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่มีความก้าวหน้าในด้านการบริหารงานมากที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย

สมมติฐานข้อหนึ่งที่คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพใช้เป็นเหตุผลในการตัดสินใจเปิดให้สมาชิกสามารถเลือกลงทุนในนโยบายตราสารทุนได้ถึงร้อยละ 100 คือ สมาชิกทุกคนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการลงทุน  รู้ว่าการลงทุนในนโยบายตราสารทุนแม้ว่าจะมีความผันผวนหรือมีความเสี่ยงสูง  แต่ความเสี่ยงเหล่านั้นจะลดลงได้รวมทั้งได้รับผลตอบแทนเฉลี่ยที่สูงหากสมาชิกมีพฤติกรรมการลงทุนระยะยาว แต่หากสมาชิกลงทุนในนโยบายตราสารทุนระยะสั้น ความเสี่ยงของการลงทุนจะสูง สมาชิกมีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนสูงแต่ก็อาจจะขาดทุนสูงได้เช่นกัน

สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ในความเป็นจริง สมาชิกบางท่านไม่เข้าใจว่าการลงทุนในนโยบายตราสารทุนมีความเสี่ยงมาก แต่เลือกลงทุนในนโยบายตราสารทุนในสัดส่วนที่สูง เพราะมองแต่ผลตอบแทนที่คาดว่า       จะได้รับด้านเดียว และใช้ผลตอบแทนเป็นตัวตั้งในการเลือกสัดส่วนการลงทุน โดยไม่คำนึงถึงความเสี่ยง

                  ลองมาดูว่าตั้งแต่เปิดให้มีการลงทุนแบบ Employee’s Choice ผลตอบแทนของนโยบายตราสารทุนเป็นยังไงบ้าง

ตารางแสดงดัชนีตลาดหลักทรัพย์ มูลค่าหน่วยลงทุนนโยบายตราสารทุน ระหว่างปี 2552 - 2561

    ดัชนีตลาดหลักทรัพย์   มูลค่าต่อหน่วยนโยบายตราสารทุน
   ณ วันสิ้นปี (จุด)  อัตราการเปลี่ยนแปลง (%)  ณ วันสิ้นปี (บาท)  อัตราการเปลี่ยนแปลง (%)
1 เมษายน 2552   430.09   10.0000  
 2552  734.54  70.79% 14.0593  40.59%
2553 1,032.76 40.60% 19.5786 39.26%
2554 1,025.32 -0.72% 19.0726 -2.58%
2555 1,391.93 35.76% 28.4170 48.99%
2556 1,298.71 -6.70% 28.0785 -1.19%
2557 1,497.67 15.32% 32.4080 15.42%
2558 1,288.08 -13.99% 29.8218 -7.98%
2559 1,542.94 19.79% 35.6807 19.65%
2560 1,753.71 13.66% 41.8180 17.20%
2561 1,563.88 -10.82% 37.4662 -10.41%

 

                 จะเห็นได้ว่าตลาดหุ้นไทย 10 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงขาขึ้นมาตลอด เป็นผลมาจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมทั้งคงอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ จึงทำให้นักลงทุนโยกย้ายเงินลงทุนจากเงินฝากและตราสารหนี้ไปยังตลาดหุ้น ประกอบกับดัชนีตลาดหุ้นของไทยในช่วงปี 2552 อยู่ในระดับต่ำมาก เป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้อัตราผลตอบแทนในตลาดหุ้นมีการเติบโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งสอดคล้องกับการเติบโตของมูลค่าหน่วยลงทุนของนโยบายตราสารทุน ที่มีทิศทางและอัตราการเติบโตไปในทางเดียวกันกับตลาดหุ้น

                   การเริ่มเปลี่ยนแปลงรูปแบบการลงทุนที่เกิดขึ้นในปี 2552 ต้องถือว่า คณะกรรมการกองทุนในสมัยนั้นตัดสินใจได้ถูกที่ถูกเวลา เพราะนับแต่ที่เริ่มให้อิสระในการลงทุนนโยบายตราสารทุนเป็นช่วงที่ตลาดหุ้นเป็นขาขึ้น จึงทำให้ผลตอบแทนเฉลี่ยระยะยาวของนโยบายตราสารทุนที่ออกมาอยู่ในระดับที่ดีมาก สมาชิกที่เลือกลงทุนในนโยบายตราสารทุนได้รับผลประโยชน์จากการลงทุนกันอย่างเป็นกอบเป็นกำ และด้วยความที่ตลาดให้ผลตอบแทนที่ดีมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน อาจจะทำให้ความคาดหวังผลตอบแทนของผู้ลงทุนอยู่ในระดับสูง ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ความคาดหวังผลตอบแทนดังกล่าวควรจะถูกปรับให้ลดลงมา ภาพที่เราเคยเห็นที่ตลาดหุ้นปรับขึ้นไปปีละกว่าร้อยละ 30 – ร้อยละ 40 คงไม่มีให้เห็นแล้ว แม้กระทั่ง จะลุ้นให้ตลาดหุ้นปรับขึ้นไปเหมือนกับในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา ก็ยังต้องลุ้นกันเหนื่อย

เนื่องจากปัจจุบันปัจจัยสนับสนุนที่เคยมีถือว่าได้ลดลงไปมาก  และตลาดหุ้นไทยก็เติบโตขึ้นมาอยู่ในระดับปกติแล้ว ดังนั้น การปรับตัวของตลาดหุ้นในระยะถัดไปเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก สิ่งหนึ่งที่สมาชิกต้องพึงตระหนักถึงก็คือ โดยทั่วไปตลาดมีการปรับตัวขึ้นและปรับตัวลงเป็นวัฏจักร ไม่มีตลาดหุ้นที่ไหนที่จะปรับตัวขึ้นไปได้ตลอด ซึ่งตลาดหุ้นที่เป็นช่วงขาขึ้นอย่างในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และให้ผลตอบแทนเฉลี่ยในระดับที่สูงขนาดนั้น ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้บ่อย ๆ

                   อีกเรื่องที่อยากจะย้ำเตือนกันก็คือ ภายใต้สิทธิ์ที่สมาชิกได้รับในการเลือกนโยบายลงทุน   จริง ๆ แล้วมีหน้าที่ที่สมาชิกต้องทำควบคู่กันไปด้วย คือ การสำรวจเป้าหมายการลงทุน ทบทวนสัดส่วน     การลงทุน และเลือกลงทุนให้อยู่บนความเสี่ยงที่ตัวเราเองยอมรับได้ ซึ่งที่ผ่านมา อาจจะไม่มีความจริงจังหรือไม่ใส่ใจกับเรื่องเหล่านี้ แต่สมาชิกทุกคนไม่ควรละเลยและควรจะต้องเริ่มทบทวนอย่างจริงจัง   

                   ถึงตอนนี้ สถานการณ์ตลาดหุ้นในเดือนกุมภาพันธ์ต้องถือว่ายังดูดีอยู่ ดัชนีตลาดหุ้นเดือนกุมภาพันธ์ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากสิ้นเดือนมกราคมอีก 11.75 จุด ด้วยมีปัจจัยหลายด้านช่วยสนับสนุน ทั้งนักลงทุนต่างชาติที่เริ่มกลับเข้ามายังตลาดหุ้นไทยหลังเศรษฐกิจสหรัฐส่งสัญญาณชะลอตัว สถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น การแข็งค่าของเงินบาท การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของประเทศไทยที่มีแนวโน้มว่าไม่น่าจะมีการเร่งรีบปรับขึ้นในปีนี้ รวมทั้งสถานการณ์การเมืองภายในประเทศที่ยังมีเสถียรภาพ เพื่อเตรียมเข้าสู่การเลือกตั้งปลายเดือนมีนาคมนี้ อย่างไรก็ดี ในมุมมองของนักวิเคราะห์ภาพตลาดหุ้นที่ดูดี    อยู่ตอนนี้ยังคงตั้งอยู่บนภาพเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูง หมายถึงว่า ในปีนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่รออยู่ข้างหน้าให้ต้องเผชิญอีกมาก ตลาดหุ้นจึงยังมีโอกาสผันผวนได้ตลอดเวลา ซึ่งในสถานการณ์เบื้องหน้าที่ตลาดหุ้นยังไม่รู้จะไปทางไหน การคำนึงถึงเรื่องความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ก่อนที่จะหวังถึงเรื่องผลตอบแทน ก็น่าจะเป็นวิธีคิดที่ปลอดภัยในการตัดสินใจลงทุนและเราอาจจะต้องลืมภาพในฉาก 10 ปีที่ผ่านมานั้นไป แล้วมาเริ่มต้นกับ    ฉากใหม่ที่ยังไม่รู้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น

 

                                            “ การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน ”

 

El nino No.14

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงาน
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ซึ่งจดทะเบียนแล้ว (ฝ่ายบริหารการเงิน)

53 หมู่ 2 ถ.จรัญสนิทวงศ์ ต.บางกรวย อ.บางกรวย จ.นนทบุรี อาคาร ท.100 ชั้น 2 ห้อง 226

ผู้รับผิดชอบข้อมูล:
นายมนัส เลาหบุตร (บช.10) โทร.65573,
นางพัชรินทร์ วรแสงศรีจำเริญ (บช.9 ) โทร.65572

ผู้ดูแลเว็บไซต์:
น.ส.พิทยนันท์ เย็นเป็นสุข (พช.6) โทร. 65537

จำนวนผู้เข้าชม :
(ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2561 )

ท่านสามารถรับชม Website ให้สวยงามด้วย
249137482 Firefox appicns ChromeGoogle Chrome

นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล กฟผ.