January Effect ปีหมูทอง

January Effect เป็นความเชื่อของนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นมักจะปรับตัวขึ้นในช่วงเดือนมกราคม เหตุผลหลักก็มาจากการกลับเข้ามาในตลาดหุ้นของนักลงทุน หลังจากในช่วงก่อนเทศกาลคริสมาสต์และเทศกาลปีใหม่นักลงทุนได้มีการปรับพอร์ตขายหุ้นออกมา พอเริ่มต้นปีใหม่นักลงทุนจึงกลับเข้ามาซื้อหุ้นคืนส่งผลให้ตลาดหุ้นจึงปรับตัวขึ้นในเดือนมกราคม ซึ่งจากที่ได้มีการเก็บสถิติที่เกิดขึ้นจริงที่ดัชนีตลาดหุ้นในวันสิ้นเดือนมกราคมปรับตัวสูงกว่าในวันสิ้นปี มีโอกาสเกิดขึ้นราว 50% เท่านั้น ดังนั้น การเสี่ยงเดาว่าตลาดหุ้นจะปรับตัวสูงขึ้นในเดือนมกราคม จึงมีความน่าจะเป็นไม่ต่างกับการโยนเหรียญหัวก้อย

มาพูดถึงดัชนีตลาดหุ้นเดือนมกราคม 2562 ที่ January Effect เกิดขึ้นอีกครั้ง (สิ้นปี 2561 ตลาดหุ้นปิดที่ 1,563.88 จุด แต่ ณ วันสิ้นเดือนมกราคม 2562 ตลาดหุ้นปิดที่ 1,641.73 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 77.85 จุด หรือคิดเป็น 4.98% ของดัชนีตลาดหุ้นที่ปิด ณ วันสิ้นปี 2561) เหตุผลที่สำคัญต้องบอกว่าตลาดหุ้นไทยได้รับอานิสงส์จากเรื่องความแน่นอนทางการเมืองภายในประเทศที่ได้ประกาศวันเลือกตั้งทั่วไปมาแล้ว คือ วันที่ 24 มีนาคม 2562 บวกกับมีสัญญาณความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจสหรัฐที่มากขึ้น เห็นได้จากการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (FED) เมื่อวันที่ 29-30 มกราคม 2562 ที่ส่งสัญญาณชัดเจนมากขึ้นว่า จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐในปี 2562 เป็นแรงส่งที่เกิดขึ้นในช่วงปลายเดือนที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยในเดือนมกราคมพุ่งขึ้นเกือบ 80 จุด

ซึ่งพฤติกรรมการลงทุนของสมาชิกกองทุนบางส่วนมีการตอบสนองกับตลาดหุ้นทันที และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดมา คือเมื่อตลาดหุ้นปรับขึ้นแรง ๆ เมื่อไหร่ สมาชิกก็จะเข้ามาลงทุนในนโยบายตราสารทุนกันอย่างคึกคัก     
(ที่ผ่านมาเกิดขึ้น 100
%) โดยในเดือนมกราคมปีนี้มีการโอนย้ายเงินลงทุนจากนโยบายตราสารหนี้เข้ามาลงทุนในตราสารทุนกว่า 1,100 ล้านบาท การเปลี่ยนนโยบายการลงทุนแบบนี้หากไม่ใช่เป็นการลงทุนระยะยาวแต่เป็นการลงทุนตามสถานการณ์ตลาดแล้ว ต้องถือว่าค่อนข้างมีความเสี่ยง เพราะในระยะยาวพฤติกรรมการลงทุนแบบนี้ นอกจากอาจจะไม่ได้รับผลตอบแทนตามเป้าหมายแล้ว ยังอาจจะเสียหายถึงขั้นขาดทุนได้ เนื่องจากการลงทุนในลักษณะนี้เราไม่รู้เลยว่าจุดไหนคือจุดสูงสุดสำหรับการขาย และการกลับเข้าไปลงทุนอีกครั้งในจุดต่ำสุดก็เป็นเรื่องยาก ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่มักจะพลาดโดยขายเมื่อราคาปรับลงมาแล้ว และเข้าไปซื้ออีกครั้งเมื่อราคาพุ่งสูงขึ้นไปแล้ว ความจริงประการหนึ่งในการลงทุนในตลาดหุ้นและเป็นกลยุทธ์ที่กองทุนสำรองเลี้ยงชีพสนับสนุนให้สมาชิกคำนึงถึง ก็คือ ยิ่งถ้าสมาชิกมีระยะเวลาการลงทุนในตลาดหุ้นนานเท่าไหร่ ความเสี่ยงที่จะขาดทุนจะยิ่งน้อยลงเท่านั้น และถ้าสามารถลงทุนอย่างสม่ำเสมอและมีนโยบายการลงทุนที่คงเส้นคงวาได้ในระยะยาว 20 ปีขึ้นไป ก็แทบจะไม่มีโอกาสขาดทุนเลย

สำหรับทิศทางตลาดหุ้นในปี 2562 มีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบให้ต้องติดตาม แต่ท่ามกลางความไม่แน่นอนของทิศทางตลาดหุ้น เศรษฐกิจไทยถือว่ายังมีเสถียรภาพเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เพราะเรามีเงินทุนสำรองอยู่ในระดับสูง และมียอดเกินดุลบัญชีเดินสะพัด (แปลว่าประเทศเรามีเงินเก็บเยอะและการหาเงินเข้าประเทศก็ยังอยู่ในระดับที่ดี ทำให้ในกรณีที่เกิดวิกฤตอะไรขึ้น เรายังมีเงินที่จะใช้เพื่อเข้าไปช่วยแก้ไขสถานการณ์ได้) ดังนั้น จึงมีโอกาสน้อยที่จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจแบบปี 2540

นักวิเคราะห์จากหลายสำนักคาดการณ์ทิศทางตลาดหุ้นในปี 2562 แตกต่างกันไป มีตั้งแต่แย่สุดคือร่วงลงไปถึงระดับ 1,400 จุด ไปจนถึงตลาดหุ้นดีดตัวกลับขึ้นไปที่ระดับ 1,800 จุด ซึ่งเหตุผลและปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังการวิเคราะห์ตัวเลขเหล่านั้น พอจะสรุปได้ว่าในปี 2562 ตลาดหุ้นมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ คือ การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังเติบโตได้ในปี 2562 โดยมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนอุปสงค์ภายในประเทศ ความคาดหวังนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงก่อนการเลือกตั้ง และทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐที่มีแนวโน้มว่าเข้มงวดน้อยลง

แต่ขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นก็มีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเผชิญอยู่อีกมาก ทั้งปัญหานโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐที่เริ่มมาตั้งแต่ปีที่แล้วและยังไม่จบ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก การชะลอตัวของการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย และการเมืองในประเทศภายหลังการเลือกตั้ง ที่ไม่ว่าพรรคใดจะขึ้นมาเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล นักลงทุนก็มีความกังวลถึงเสถียรภาพและแนวทางในการนโยบายของรัฐบาล

ถึงตอนนี้ ตลาดหุ้นในปี 2562 ที่ผ่านมาหนึ่งเดือนถือว่ายังไม่มีปัจจัยลบเข้ามาบั่นทอน ในทางตรงข้ามกลับมีปัจจัยบวกเข้ามาทำให้ตลาดปรับตัวสูงขึ้น แต่ปัจจัยเสี่ยงทั้งหลายยังไม่ได้หายไปไหน แต่ยังยืนรออยู่ข้างหน้า ดังนั้น สมาชิกกองทุนฯโดยเฉพาะอย่างยิ่งสมาชิกที่มีระยะเวลาการลงทุนอีกไม่นาน (ผู้ใกล้เกษียณอายุที่วางแผนว่าจะไม่คงเงินในกองทุนฯต่อ หรือผู้ที่มีความจำเป็นทำให้ไม่สามารถจะคงเงินในกองทุนฯได้) ถือว่าเป็นนักลงทุนที่มีความเสี่ยง จึงควรระมัดระวังและจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องติดตามทิศทางตลาดหุ้นอย่างใกล้ชิด ทบทวนเป้าหมายการลงทุน และกลยุทธ์การลงทุนอย่างจริงจังและละเอียดถี่ถ้วน รวมถึงไม่ควรคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงเกินไป เพราะสภาวะตลาดในปัจจุบันเปลี่ยนแปลงจากอดีตไปมากแล้ว

การลงทุนในตลาดทุนเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะพาเราไปถึงเป้าหมายการลงทุนของเราได้ แต่ขอให้ลงทุนด้วยความรู้และความพอดี อย่าลงทุนด้วยความอยาก และด้วยทัศนคติแบบนี้เราจะประสบผลสำเร็จในการลงทุนได้ครับ

                                            “ การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน ”

 

El nino No.14

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงาน
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ซึ่งจดทะเบียนแล้ว (ฝ่ายบริหารการเงิน)

53 หมู่ 2 ถ.จรัญสนิทวงศ์ ต.บางกรวย อ.บางกรวย จ.นนทบุรี อาคาร ท.100 ชั้น 2 ห้อง 226

ผู้รับผิดชอบข้อมูล:
นายมนัส เลาหบุตร (บช.10) โทร.65573,
นางพัชรินทร์ วรแสงศรีจำเริญ (บช.9 ) โทร.65572

ผู้ดูแลเว็บไซต์:
น.ส.พิทยนันท์ เย็นเป็นสุข (พช.6) โทร. 65537

จำนวนผู้เข้าชม :
(ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2561 )

ท่านสามารถรับชม Website ให้สวยงามด้วย
249137482 Firefox appicns ChromeGoogle Chrome

นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล กฟผ.