กรรมการกองทุนฯ เราจะเลือกแบบไหนดี        

                คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงาน กฟผ. ชุดปัจจุบัน จะหมดวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 7 มีนาคม 2563 ทำให้ต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการกองทุนฯ ชุดใหม่เพื่อเข้ามาบริหารงานกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่อจากคณะกรรมการกองทุนฯ ชุดเดิม ซี่งภายใต้โครงสร้างใหม่ของคณะกรรมการกองทุนฯมีการปรับลดจำนวนกรรมการกองทุนฯจากเดิมที่มีจำนวน 27 ท่าน ให้เหลือ จำนวน 19 ท่าน เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินงานมากขึ้น โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป

                   สำหรับโครงสร้างใหม่ของคณะกรรมการกองทุนฯ จำนวน 19 ท่าน ประกอบด้วย

article7

โครงสร้างกรรมการกองทุนฯ แบบใหม่ ถือว่ามีความหลากหลายของคณะกรรมการมากขึ้นกว่าเดิม เพราะมีตัวแทนผู้เกษียณอายุเข้าร่วมเป็นกรรมการกองทุนฯ ด้วย เนื่องจากนับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ได้มีการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับกองทุนจากเดิมที่สมาชิกต้องนำเงินกองทุนออกทั้งหมดเมื่อเกษียณอายุ เป็นเปิดโอกาสให้สมาชิกที่เป็นผู้เกษียณอายุสามารถคงเงินไว้ในกองทุนต่อไปได้ ซึ่งในปัจจุบันจำนวนสมาชิกที่เป็นผู้เกษียณที่ยังคงเงินอยู่ในกองทุนและจำนวนเงินในกองทุนที่เป็นของผู้เกษียณถือว่ามีจำนวนมากอย่างมีนัยสำคัญ และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คณะกรรมการกองทุนฯ ชุดปัจจุบันมีมติเห็นชอบให้มีกรรมการจากผู้เกษียณอยู่ในโครงสร้างใหม่ของคณะกรรมการกองทุนฯ ด้วย

ซึ่งจากโครงสร้างกรรมการข้างต้นและวิธีการคัดเลือกกรรมการกองทุนฯ ทำให้ในปี 2563 จะต้องมีการดำเนินการเลือกตั้งกรรมการกองทุนฯ จากในส่วนของฝ่ายลูกจ้าง กฟผ. บริษัทนายจ้างร่วม และผู้เกษียณอายุ โดยมีกำหนดการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 แต่ในส่วนของฝ่ายลูกจ้าง กฟผ. จะมีขั้นตอนที่มากกว่าและต้องเริ่มดำเนินการก่อน เนื่องจากจะต้องมีการสรรหาผู้แทนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของหน่วยงานต่าง ๆ ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563

การเลือกตั้งผู้แทนกองทุนฯ ของสมาชิกที่เป็นผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. ถือว่าเป็นบทบาทหน้าที่ที่สำคัญของสมาชิก เพราะถือเป็นโอกาสหนึ่งที่สมาชิกจะมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการดำเนินงานของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพผ่านการเลือกผู้แทนกองทุนฯ เพราะหน้าที่ของผู้แทนกองทุนฯ นอกเหนือจากการเป็นตัวกลางในการสื่อสารระหว่างกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกับสมาชิกแล้ว หน้าที่หนึ่งที่สำคัญก็คือผู้แทนกองทุนฯเหล่านั้นจะเป็นตัวแทนของสมาชิกที่จะไปรับคัดเลือกเป็นกรรมการกองทุนฝ่ายลูกจ้าง กฟผ. กล่าวได้ว่าทิศทางและอนาคตในการบริหารงานของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่สมาชิกทุกคนให้ความสำคัญนั้น ก็เริ่มมาตั้งแต่การเลือกผู้แทนกองทุนฯนั่นเอง

กรรมการชุดใหม่ที่จะมีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า จะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี คือตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2563 – วันที่ 7 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมาบทบาทหน้าที่ที่สำคัญของกรรมการกองทุนฯ คือ เป็นผู้กำหนดนโยบายการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ รวมถึงการกำกับและติดตามผลการดำเนินงานของบริษัทจัดการกองทุนว่าเป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการกองทุนฯ หรือไม่ โดยมีเป้าหมายการลงทุน ในระยะยาวแล้วอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยที่สมาชิกจะได้รับต้องไม่น้อยกว่าอัตราผลตอบแทนของตลาด แต่ในปัจจุบันด้วยความคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนของสมาชิกที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับสภาวะตลาดทุนในประเทศที่ผันผวนอย่างมากและมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้น ถือเป็นความท้าทายของคณะกรรมการกองทุนฯ ชุดใหม่ที่จะมีนโยบายและแนวทางการดำเนินงานอย่างไร ที่จะตอบสนองความต้องการด้านการลงทุนของสมาชิก เพื่อให้สมาชิกกองทุนฯมีเงินพอเพียงที่จะใช้จ่ายหลังเกษียณอายุ

การเลือกตั้งกรรมการกองทุนเป็นเรื่องที่สมาชิกไม่ควรจะมองข้าม และเป็นเรื่องที่สมาชิกต้องหันมาให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะคณะกรรมการกองทุนฯ เป็นผู้กำหนดทิศทางการดำเนินงานและความเป็นไปของกองทุนฯ ซึ่งมีผลโดยตรงต่อผลการดำเนินงานของกองทุนทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แน่นอนว่ากรรมการกองทุนฯ ที่มีความรู้ด้านการลงทุนเป็นปัจจัยที่สมาชิกให้ความสำคัญอยู่แล้ว แต่คุณสมบัติของผู้แทนกองทุนฯ ที่จะมีโอกาสมาทำงานในฐานะกรรมการกองทุนนั้นไม่ควรจะเป็นแค่ผู้ที่มีความรู้ด้านการลงทุนเท่านั้น และน่าจะดีถ้าเราจะได้กรรมการกองทุนที่เป็นทั้งผู้ที่มีความรู้ด้านการลงทุน ในขณะเดียวกันก็เป็นผู้ที่สามารถให้แนวคิดที่ดีและมุมมองที่รอบด้านในการตัดสินใจ มีความระมัดระวังในการบริหารงาน รวมถึงเป็นผู้ที่บริหารงานโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของสมาชิกทุกคน คุณสมบัติเหล่านี้มีความสำคัญมากสำหรับผู้ที่จะก้าวมาทำงานในฐานะกรรมการกองทุนฯ ซึ่งการบริหารงานกองทุนฯจะเป็นยังไง สิ่งที่สำคัญที่สุดและเป็นจุดเริ่มของทุกอย่างก็คือ การที่เราจะเลือกใครมาบริหารงานกองทุนฯให้เรานี่แหละ

 

  “ การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน ”

 

El nino No.14

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงาน
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ซึ่งจดทะเบียนแล้ว (ฝ่ายบริหารการเงิน)

53 หมู่ 2 ถ.จรัญสนิทวงศ์ ต.บางกรวย อ.บางกรวย จ.นนทบุรี อาคาร ท.100 ชั้น 2 ห้อง 226

ผู้รับผิดชอบข้อมูล:
นายมนัส เลาหบุตร (บช.10) โทร.65573,
นางพัชรินทร์ วรแสงศรีจำเริญ (บช.9 ) โทร.65572

ผู้ดูแลเว็บไซต์:
น.ส.พิทยนันท์ เย็นเป็นสุข (พช.6) โทร. 65537

จำนวนผู้เข้าชม :
(ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2561 )

ท่านสามารถรับชม Website ให้สวยงามด้วย
249137482 Firefox appicns ChromeGoogle Chrome

นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล กฟผ.