ลงทุนให้ดีต้องใช้อารมณ์

 

         ถ้าใครคิดว่าตลาดหุ้นปี 2561 ผันผวนแล้ว ตลาดหุ้นปีนี้ก็ผันผวนไม่น้อยไปกว่ากัน ตอนต้นปี 2562 ตลาดเปิดมาอยู่ที่ประมาณ 1,560 จุด จากนั้นก็ค่อย ๆ ปรับตัวขึ้นมาจากปัจจัยสนับสนุนภายในประเทศเรื่องการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ทำให้ดัชนีปรับลดลงในช่วงเดือนเมษายน แต่ต่อมาในช่วงเดือนพฤษภาคมที่เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มส่งสัญญาณชะลอตัว มีผลให้นักลงทุนคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐต้องผ่อนคลายนโยบายทางการเงิน โดยอาจต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงถึง 2 ครั้งในปีนี้ ประกอบกับสถานการณ์สงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ดีขึ้นจากช่วงต้นปี ส่งผลให้ในช่วงเดือนมิถุนายนตลาดหุ้นบ้านเราพุ่งทะยานจาก 1,600 จุด ขึ้นไปถึงระดับเกือบ 1,750 จุด แต่หลังจากนั้นสถานการณ์กลับพลิกผันอีก โดยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในช่วงครึ่งปีแรกที่ออกมาไม่ได้ชะลอตัวมากและเศรษฐกิจสหรัฐไม่ได้ถดถอยมากอย่างที่เคยคาดกันไว้ ส่งผลให้นักลงทุนไม่แน่ใจว่าธนาคารกลางสหรัฐจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 2 ครั้งในปีนี้หรือไม่ และมติผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐในเดือนกรกฎาคมที่ออกมา แม้ว่าจะมีการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี แต่กลับส่งสัญญาณว่าในปีนี้อาจจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ซึ่งผิดจากที่นักลงทุนเคยคาดกันไว้ว่าธนาคารกลางสหรัฐจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในปีนี้ ประกอบกับสถานการณ์สงครามการค้าที่เคยดูดีขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้กลับเปลี่ยนเป็นแย่ลงอีกครั้ง หลังสหรัฐประกาศเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนในส่วนของสินค้าที่ยังไม่ได้ถูกเรียกเก็บก่อนหน้านี้ ยิ่งเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ให้แย่ลงไปอีก ส่งผลให้ตลาดหุ้นในช่วงกลางเดือนกรกฎาคมถึงกลางเดือนสิงหาคมปรับตัวดิ่งลงมาถึงระดับต่ำสุดที่ 1,590 จุด แม้ว่าจะมีแรงซื้อเข้ามาบ้างซึ่งช่วยพยุงตลาดให้กลับมายืนเหนือระดับ 1,600 จุดได้ แต่ก็ยังไม่มีปัจจัยใหม่ที่จะเข้ามาสนับสนุนตลาดในระยะนี้ 

กราฟแสดงดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม – 31 สิงหาคม 2562

article 6

 

ท่ามกลางสถานการณ์ตลาดหุ้นที่ผันผวนอย่างในช่วงที่ผ่านมา ทำให้นึกถึงว่าที่ปีนี้กองบริหารงานกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้เดินทางไปประชาสัมพันธ์ทั่วประเทศนั้น รูปแบบในการนำเสนอการเสวนาได้เน้นไปที่การนำเสนอแง่มุมในเรื่องของการเลือกนโยบายการลงทุนของสมาชิก โดยมีทั้งผู้จัดการกองทุนและเจ้าหน้าที่จากกองบริหารงานกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ไปให้คำแนะนำและอธิบายพฤติกรรมการลงทุนของสมาชิก หากสมาชิกท่านใดได้เข้าร่วมการเสวนา น่าจะได้รับความรู้และทราบวิธีการบริหารการลงทุน เพราะได้มีการแนะนำถึงกลยุทธ์การลงทุนในช่วงที่ตลาดมีความผันผวน ซึ่งน่าจะมีสมาชิกจำนวนไม่น้อยที่รับทราบและได้รับประโยชน์หากได้นำวิธีที่ได้รับคำแนะนำจากการเสวนาไปบริหารเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในช่วงที่ผ่านมา

                   เรื่องที่ได้มีการพูดคุยในการเสวนาก็คือ ในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนนั้น สมาชิกบางส่วนมักมีพฤติกรรมการลงทุนที่เป็นไปตามสภาวะตลาดและสภาวะอารมณ์ของตนเอง คือหากตลาดหุ้นมีการปรับตัวขึ้นสมาชิกก็จะเปลี่ยนนโยบายการลงทุนจากนโยบายตราสารหนี้ไปเป็นนโยบายตราสารทุน เพราะความอยากได้และคิดว่าตลาดหุ้นจะปรับตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ ในขณะที่หากตลาดหุ้นมีการปรับตัวลดลงสมาชิกก็จะเปลี่ยนนโยบายการลงทุนจากนโยบายตราสารทุนกลับไปเป็นนโยบายตราสารหนี้ เพราะความกลัวและคิดว่าตลาดจะปรับตัวลงไปมากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งบางครั้งการเปลี่ยนนโยบายการลงทุนตามสถานการณ์ตลาดนอกจากอาจจะไม่ได้รับผลตอบแทนตามเป้าหมายแล้ว ยังอาจจะเสียหายถึงขั้นขาดทุนได้เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่มักจะปรับเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในนโยบายตราสารทุนเมื่อดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับสูงขึ้นไปแล้ว และปรับลดสัดส่วนการลงทุนในนโยบายตราสารทุนเมื่อดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับลงมาต่ำแล้ว

                   การแสวงหาความรู้ด้านการลงทุน การติดตามสภาวะตลาด และรับฟังบทวิเคราะห์จากผู้เชี่ยวชาญเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสมาชิกเพื่อที่จะสามารถรับรู้ทิศทางตลาดและปัจจัยที่มีผลต่อตลาด ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้มาก เพราะเชื่อว่าจะช่วยให้รู้ทิศทางตลาดและสามารถตัดสินใจลงทุนที่ถูกต้องได้ ซึ่งหากคาดการณ์ถูกก็สามารถสร้างผลกำไรให้กับสมาชิกได้ แต่ในความเป็นจริงและเป็นสิ่งที่สมาชิกต้องยอมรับก็คือ ไม่มีใครรู้ว่าตลาดจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางไหนและเมื่อไหร่ เคยมีผู้คร่ำหวอดในวงการได้เคยกล่าวว่า นักลงทุนในตลาดสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ 1. พวกที่ไม่รู้ และ 2. พวกที่ไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้

                   นั่นหมายความว่า แม้ว่าจะมีความรู้และความสามารถในการคิดวิเคราะห์ หรือจะเรียกว่า IQ ในด้านการลงทุนอย่างไร แต่ก็ไม่มีใครที่จะรู้ความเคลื่อนไหวของตลาดจริง ๆ ดังนั้น จึงมีโอกาสที่สมาชิกจะรับรู้กำไรและขาดทุนจากการลงทุนได้ตลอดเวลา ซึ่งการใช้ IQ ในการลงทุนแต่เพียงอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอที่จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จในการลงทุน สิ่งที่สำคัญกว่าที่สมาชิกต้องมีก็คือ EQ ในการลงทุน ซึ่งก็คือความฉลาดทางอารมณ์ หมายถึง การมีสติรับรู้และเข้าใจอารมณ์ของตนเอง และสามารถปรับหรือควบคุมได้อย่างเหมาะสมตามสถานการณ์ การรู้จักควบคุมความกลัวความอยากได้ ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งยั่วยวนในตลาด  มีความสามารถในการอดทนรอได้ รวมถึงเชื่อในเรื่องของการลงทุนระยะยาว ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต่างหากที่เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จในการลงทุน แต่กลับเป็นสิ่งที่สมาชิกไม่ค่อยให้ความสำคัญและไม่ค่อยมีการพูดถึง

                     การสร้าง EQ ในการลงทุนต้องใช้เวลาและประสบการณ์ สิ่งเหล่านี้จะเกิดได้ก็อาจจะต้องผ่านบทเรียนกันมาก่อน บางคนเจ็บแล้วจำ บางคนเจ็บแล้วเจ็บอีก แต่ถ้าหากมองในแง่การลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพซึ่งเป็นการลงทุนเพื่อให้สมาชิกมีเงินก้อนสุดท้ายในชีวิตไว้ใช้จ่ายเมื่อเกษียณอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นสมาชิกที่ต้องพึ่งพาเงินก้อนนี้เพื่อดำรงชีวิตหลังเกษียณด้วยแล้ว คงมีโอกาสไม่กี่ครั้งให้มาลองผิดลองถูก ดังนั้น การสร้างและปลูกฝัง EQ ในการลงทุนให้กับสมาชิกจึงเป็นสิ่งจำเป็นควบคู่ไปกับการให้ความรู้เรื่องการลงทุน เพื่อที่จะให้สมาชิกสามารถบริหารเงินในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้ประสบความสำเร็จได้ตามเป้าหมาย

 

 

  “ การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน ”

 

El nino No.14

กองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงาน
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ซึ่งจดทะเบียนแล้ว (ฝ่ายบริหารการเงิน)

53 หมู่ 2 ถ.จรัญสนิทวงศ์ ต.บางกรวย อ.บางกรวย จ.นนทบุรี อาคาร ท.100 ชั้น 2 ห้อง 226

ผู้รับผิดชอบข้อมูล:
นายมนัส เลาหบุตร (บช.10) โทร.65573,
นางพัชรินทร์ วรแสงศรีจำเริญ (บช.9 ) โทร.65572

ผู้ดูแลเว็บไซต์:
น.ส.พิทยนันท์ เย็นเป็นสุข (พช.6) โทร. 65537

จำนวนผู้เข้าชม :
(ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน 2561 )

ท่านสามารถรับชม Website ให้สวยงามด้วย
249137482 Firefox appicns ChromeGoogle Chrome

นโยบายข้อมูลส่วนบุคคล กฟผ.